Skip to main content

"เศรษฐพงค์" นั่งประธานบอร์ด ECSTAR รับลูก "อธิการฯคมสัน" ตั้งเป้า สจล. เป็นผู้นำด้านอวกาศของอาเซียน

ตั้งเป้า สจล.เป็นผู้นำด้านอวกาศของอาเซียน

"เศรษฐพงค์" นั่งประธานบอร์ด ECSTAR รับลูก "อธิการฯคมสัน"

ตั้งเป้า สจล. เป็นผู้นำด้านอวกาศของอาเซียน

 

"เศรษฐพงค์" นั่งประธานบอร์ด ECSTAR รับลูก "อธิการฯคมสัน" ตั้งเป้า สจล. เป็นผู้นำด้านอวกาศของอาเซียน เผยงานแรก ร่วมรัฐ-เอกชน ใช้เทคโนโลยีอวกาศติดตามไทม์ไลน์ไฟป่าทั่วปท.

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตส.ส. บัญชีรายชื่อ และรองประธานกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ถือเป็นเกียรติที่ตนได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย(ECSTAR) สถาบันการบินและอวกาศ (AASA) วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

เป้าหมายเราคือต้องเป็นสถาบันชั้นนำระดับนานาชาติโดยเฉพาะอาเซียนในด้านอวกาศ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติยกระดับการวิจัยพัฒนาและความร่วมมือกับนานาชาติ สนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัพเพื่อพัฒนางานด้านอวกาศ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม (Climate change) เป็นการสานงานต่อจากคณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศเพื่อเศรษฐกิจและความมั่นคง

โดยมี 2 โครงการเร่งด่วนที่เราได้หารือความร่วมมือกับนานาชาติ คือโครงการห้องแล็บอวกาศ และการสร้างดาวเทียมขนาดเล็กสู่อวกาศ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สามารถสร้างและส่งดาวเทียมวงโคจรต่ำ หรือ Low Earth Orbit (LEO) satellites สู่อวกาศได้สำเร็จ และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อเป้าหมายไทยต้องเป็นฮับด้านอวกาศในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ในส่วนความร่วมมือกับฝรั่งเศส ที่จะได้สานต่อคือ การดำเนินโครงการปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส – ไทย 2023 โดยเป็นการเริ่มต้นเมื่อครั้งตนเป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศฯ 

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ ECSTAR ได้เริ่มทำความร่วมมือกับองค์กรนานาชาติ เช่น ฝรั่งเศส และภาคเอกชนของไทย บริษัท สตาร์อัพ ด้านอวกาศ TeroSpace ที่เกิดจากศิษย์เก่า สจล. เพื่อใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายจากอวกาศในการติดตามต้นเหตุปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยการเก็บข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม สภาพอากาศ ปัจจัยที่ทำให้เกิดฝุ่น เราเก็บภาพถ่ายเป็นไทม์ไลน์ของไฟป่าตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด ในพื้นที่ภาคเหนือล่าสุดที่นครนายก รวมถึงพื้นที่อื่นๆ เพื่อใช้นำมาวิเคราะห์ทำข้อมูลเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเพื่อส่งให้รัฐบาลต่อไป จะเห็นได้ว่ากิจการอวกาศยังมีประโยชน์ในทุกมิติ ไม่ว่าด้านสาธารณะสุข ด้านจัดการทรัพยากรธรรมชาติและด้านสิ่งแวดล้อม 

“ผมได้รับแนวนโยบายจากท่านอธิการฯ รศ.ดร.คมสัน มาลีสี เพื่อร่วมกันพัฒนาสถาบันของเราให้เป็นองค์กรชั้นนำด้านอวกาศของอาเซียน พัฒนาสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านอวกาศให้มากขึ้น รวมถึงประสานความร่วมมือกับองค์กรอื่นทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนากิจการอวกาศให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา กมธ.ดีอีเอส ก็ได้ร่วมกับร่วมกับ GISTDA และ ECSTAR ในการเปิดห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีอวกาศ หรือ Space Technology Laboratory ที่วิทยาลัยเทคนิคเวียงป่าเป้า จ.เชียงราย โดยให้ บริษัท สตาร์ทอัพ TeroSpace ศิษย์เก่า สจล. ของเราสนับสนุน ให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้ว” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว

ที่มา https://www.thebetter.co.th/news/news/2414

 

Share this page