“กราฟีน” วัสดุแห่งอนาคต เพิ่มโอกาสคนไทยเข้าถึงผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง จากการวิจัยและพัฒนาโดยอาจารย์ สจล.
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ กับ คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี”เครื่องผลิตรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ระดับโรงงานอุตสาหกรรม” เพื่อเสริมกำลังการผลิตธุรกิจใหม่(New-S-Curve) ด้วยการเชื่อมโยงนวัตกรรม เทคโนโลยี รวมทั้งองค์ความรู้ทางวิชาการเข้าด้วยกัน
สำหรับนวัตกรรม เครื่องผลิตรีดิวซ์กราฟีนออกไซด์ต้นแบบ เป็นผลงานของ รศ.ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ สจล. พร้อมทีมวิจัย ที่ได้ทำการศึกษาวิจัยจนค้นพบศักยภาพในการผลิตกราฟีนในไทย ซึ่งผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย และได้รับรางวัลจากหลายเวที กระทั่งสามารถต่อยอดสู่การจัดตั้ง “โรงงานต้นแบบผลิตกราฟีนระบบอัตโนมัติระดับอุตสาหกรรม” โรงงานขนาดเล็กนำร่องแห่งแรกในไทย ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจัดสร้างจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ทั้งนี้ กราฟีน ถือเป็นวัสดุอัจฉริยะ มีคุณสมบัติพิเศษ มีโครงสร้างของคาร์บอนอะตอม ที่เรียงกันเป็นลักษณะหกเหลี่ยมคล้ายรวงผึ้ง จึงทำให้เป็นวัสดุที่มีความแข็งแกร่งมากกว่าเพชร ทั้งยังนำไฟฟ้าและนำความร้อนได้ดีมาก สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม แต่มีข้อจำกัดคือ ราคาสูง
นับเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ที่ได้นำนวัตกรรมจากงานวิจัยไปต่อยอด เพิ่มโอกาสคนไทยเข้าถึงผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง อาทิ แบตเตอรี่ ผ้าไหม บ้าน รถยนต์ ทลายขีดจำกัดในการสร้างผลิตภัณฑ์ ใหม่ๆ ช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยเดินหน้า พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนของประเทศ