Skip to main content

“รถไฟไทยทำ” ลดพลังงาน-คาร์บอน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยชาติประหยัดนับแสนล้าน

KMITL

          ไม่มีใครปฏิเสธว่า การเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งมาเป็นระบบราง หรือ รถไฟ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งยังสามารถนำการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงมาใช้เป็นคาร์บอนเครดิต ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ที่มาช่วยลดต้นทุนได้อีกทาง

          ทีมงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ดำเนินโครงการวิจัยตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นแบบเคลื่อนที่ประสิทธิภาพสูง พบว่า ในกรณีขนส่งสินค้าปริมาณมากๆ เป็นระยะทางไกลๆ การขนส่งทางถนนและอากาศมีอัตราการใช้เชื้อเพลิงต่อน้ำหนักสินค้าค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับการขนส่งทางรถไฟ เช่น ในการขนส่งสินค้าน้ำหนัก 1 ตัน ระยะทาง 1 กิโลเมตร การขนส่งทางเครื่องบินจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 0.7-0.8 กิโลกรัม การขนส่งด้วยรถบรรทุกสิบล้อแบบมีห้องเย็นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 0.36 กิโลกรัม ขณะที่การขนส่งด้วยรถไฟแบบมีตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 0.06 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งส่วนต่างจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงนี้ สามารถนำมาประเมินเป็นมูลค่าและนำไปขายในตลาดคาร์บอนเครดิตได้

          นอกจากนี้ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยังมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการลดการใช้เชื้อเพลิง ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการลดต้นทุนการขนส่งไปในตัว ส่งผลให้ต้นทุนในภาพรวมลดลงตามไปด้วย

          ขณะที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้สนับสนุนกลุ่มบริษัทพันธมิตรทางการค้า ทดลองเปิดเดินขบวนรถขนส่งสินค้าทางรถไฟ อาทิ ทุเรียน ยางพารา เกลือ ไม้ปาติเกิลบอร์ด เป็นต้น ไปยังศูนย์กระจายสินค้า ผ่านเส้นทางรถไฟในหลายเส้นทาง ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้าจากถนนมาสู่ระบบราง มีการเปิดเดินขบวนรถพิเศษสินค้าทดลอง ขนส่งผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ของบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) เริ่มจากสถานีนาผักขวง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปถึงสถานีศรีสำราญ จังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทาง 356 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาการเดินรถเฉลี่ย 10-12 ชั่วโมง ขนสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนที่มีน้ำหนักแต่ละม้วนอยู่ระหว่าง 6-23 ตัน/ม้วน เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2,050 มิลลิเมตร มีการจัดทำรายงานสรุปผลการทดสอบ เบื้องต้น บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี มีแผนเริ่มขนส่งในเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป

          สำหรับแผนงานของรัฐบาลในภาพรวม มีนโยบายการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและคมนาคมของประเทศ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมทางบกและทางราง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและบริการ การคมนาคม และการขนส่งของภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า การขนส่งสินค้าด้วยระบบรางของประเทศไทยยังมีสัดส่วนน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการขนส่งทางถนนและทางน้ำ โดยได้จัดทำแผนเร่งด่วน เจรจากับ สปป.ลาว และจีน เพื่อทำข้อตกลงในการเชื่อมโยงระบบการขนส่งทางรางระหว่างสามประเทศให้ชัดเจน เพื่อให้การเชื่อมโยงระบบรางเกิดขึ้นได้จริง รวมทั้งการจัดทำแผนการพัฒนาการเชื่อมโยงการขนส่งทางรางระหว่างสามประเทศเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติ ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2568–2569

          นอกจากการขนสินค้า การขน คน” ก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจของรถไฟในการลดปริมาณพลังงานและคาร์บอน มีการสนับสนุนโครงการรถไฟโดยสาร สุดขอบฟ้า” ซึ่งเป็นรถไฟโดยสารต้นแบบคันแรกของประเทศไทย ในโครงการวิจัย รถไฟไทยทำ” ตามนโยบายกระทรวงคมนาคม “ไทยเฟิร์ส” โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้แผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ร่วมกับ กิจการร่วมค้า ไซโนเจน-ปิ่นเพชร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการนี้ ขณะที่หน่วยงานวิจัยคือ ศูนย์วิจัยระบบรางและโครงสร้างพื้นฐาน, คณะวิศวกรรมศาสตร์, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) หลังจากพัฒนาเสร็จแล้วจะส่งรถโดยสารต้นแบบให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยมีเป้าหมายร่วมกันผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตรถขนส่งทางรางด้วยหลักคิด การพึ่งพาตนเอง”

          หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการผลิตตู้โดยสารรถไฟ “สุดขอบฟ้า” คือการสนับสนุนให้ใช้วัตถุดิบในประเทศ โดยมีเป้าหมาย Local Content ตั้งไว้ 40% ตามนโยบายกระทรวงคมนาคม ที่กำหนดว่าต้องไม่น้อยกว่า 40% แต่รถไฟโดยสารสุดขอบฟ้าสามารถทำได้ 44.1% นอกจากนี้ หากพิจารณาเฉพาะตู้รถไฟและส่วนประกอบ ไม่รวมแคร่จะมี Local Content สูงถึง 76% จากชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกว่า 300 ชิ้น สร้างผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตมากกว่า 10 ราย

          เบื้องต้นจากการประเมินค่าใช้จ่ายในการพัฒนาตู้โดยสารรถไฟต้นแบบ พบว่ามีราคาถูกกว่าการนำเข้าไม่น้อยกว่า 30% ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อ รฟท.และประเทศชาติ นอกจากนี้ยังสามารถสร้างทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรจำนวน 7 ผลงาน จากเป้าหมาย 2 ผลงาน สามารถขับเคลื่อนความพร้อมของเทคโนโลยีสู่ระดับ TRL 9 ผ่านการใช้งานและการทดสอบ ตามมาตรฐานสากล สามารถแข่งขันกับสายการบิน รวมถึงผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวได้ เพื่อดึงผู้โดยสารกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ที่อาจไม่เคยใช้บริการรถไฟมาก่อน ได้หันมาใช้บริการรถไฟของ รฟท. นอกจากจะช่วยลดพลังงานในภาพรวมของประเทศ ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับ รฟท. ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนได้อีกด้วย

          โดยในด้านสิ่งแวดล้อม การวิจัยพบว่าถ้าเปลี่ยนคน 25 คนจากการใช้รถยนต์ส่วนตัวมานั่งรถไฟขบวนนี้ จะตอบโจทย์ด้านการประหยัดพลังงาน เมื่อเทียบกับการใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือเครื่องบิน เนื่องจากพลังงานที่ใช้ในการขับเคลื่อนระยะทางเท่ากัน น้ำหนักเท่ากัน รถไฟใช้พลังงานน้อยกว่ารถยนต์ถึง 8 เท่า ในด้านความยั่งยืน รัฐบาลลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานรางรถไฟด้วยงบประมาณจำนวนมหาศาล แต่ปัญหาคือจะดึงประชาชนเปลี่ยนจากการใช้รถยนต์หรือเครื่องบินมาใช้รถไฟอย่างไร ซึ่งรถไฟโดยสารสุดขอบฟ้า ผลิตขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ และต้องการเพิ่มการใช้วัตถุดิบในประเทศ ช่วยสร้างความยั่งยืนเรื่องเทคโนโลยีในการพึ่งพาตัวเอง ลดการนำเข้าจากตู้โดยสารจากต่างประเทศมูลค่าเป็นแสนล้าน

          รถไฟจึงตอบโจทย์ระบบการขนส่ง “สินค้า” และ “คน” ที่สำคัญคือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการใช้พลังงาน ลดคาร์บอน และยังสามารถขายเป็นคาร์บอนเครดิตได้อีกด้วย

แหล่งที่มา : https://www.salika.co/2024/04/15/sudkhobfa-thai-train/

บทความโดย

จำนวนผู้เข้าชม

Share this page