Skip to main content

รวมพลังสร้างอนาคต เปลี่ยนไทย “เปลี่ยนโลกด้วยนวัตกรรม”

รวมพลังสร้างอนาคต เปลี่ยนไทย

“เปลี่ยนโลกด้วยนวัตกรรม”

         ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโลกของเราในยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แบบวันต่อวัน ชั่วโมงต่อชั่วโมง จนนาทีต่อนาทีเลยก็ว่าได้ และเพื่อการเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเช่นนี้ อะไรล่ะที่จะเข้ามาเป็นตัวช่วยให้เราตามโลกใบนี้ได้ทัน อะไรล่ะที่จะทำให้เราใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คำตอบก็คือ “นวัตกรรม” นั่นเอง

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มุ่งมั่นตั้งใจสร้างงานวิจัยและองค์ความรู้ในด้านนวัตกรรมและเทคโลยี รวมถึงงานวิจัยอื่น ๆ ในหลากหลายสาขาวิชา เพื่อตอบโจทย์สำหรับการดำเนินชีวิตในยุคนี้ และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ในปี 2565 ที่ผ่านมา สจล. ได้รับการจัดอันดับจาก Time Higher Education ให้เป็นที่ 1 ในด้านงานวิจัย และเพื่อตอกย้ำความสำเร็จอีกขั้นของสถาบัน รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. จึงมุ่งมั่นตั้งใจที่จะจัดงาน KMITL Innovation Expo เพื่อให้น้อง ๆ นักศึกษาได้มีพื้นที่แสดงผลงานความสามารถของตนเองซึ่งจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง และเพื่อเดินหน้าสานต่อความสำเร็จให้ สจล. ก้าวไปสู่ “The World Master of Innovation”

รศ. ดร.คมสัน มาลีสี
อธิการบดี สจล.

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา สจล. จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวมหกรรมผลงานจากนักวิจัย สจล. นำตัวอย่างผลงานมาเรียกน้ำย่อยด้วยนวัตกรรม 4 ชิ้นด้วยกัน นวัตกรรมชิ้นแรกแบตเตอรี่กราฟีน เป็นผลงานจากคณะวิทยาศาสตร์ สจล. นำโดย รศ.ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์ แบตเตอรี่กราฟีนนี้สามารถกักเก็บประจุไฟฟ้าได้มากขึ้น และมีอัตราการอัดประจุได้ที่รวดเร็วขึ้นจากแบตเตอรี่แบบเดิม ราคาถูก ไม่ระเบิด จึงปลอดภัยต่อการใช้งาน

ทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัสดุการเกษตรเหลือใช้ภายในประเทศ สนับสนุนแนวเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ได้อีกด้วย และในอนาคตก็จะมีการพัฒนาในเฟสที่ 3 และ 4 ต่อไปเพื่อให้แบตเตอรี่นี้สามารถใช้ได้กับยานยนต์ไฟฟ้า EV เพื่อรองรับต่ออุตสาหกรรมใหม่ ๆ

รศ.ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์ และนวัตกรรมแบตเตอรี่กราฟีน

ผ้าไหมไทยย้อมกราฟีนแบบใส่ในเมืองร้อนและเมืองหนาว ผลงานวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ สจล. นำโดย รศ.ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์ ได้คิดค้นที่จะพัฒนาเส้นด้ายไหมและผลิตผ้าไหมด้วยวัสดุอนุพันธ์กราฟีน ที่มีคุณสมบัติพิเศษทางความร้อนแตกต่างกัน การย้อมกราฟีนจะทำให้เส้นด้ายหรือผ้านั้น ๆ มีคุณภาพดีขึ้น มีความเหนียว แข็งแรงคงทนมากขึ้น พร้อมทั้งสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อรา และยังสามารถป้องกันฝุ่นละอองได้ ซึ่งนวัตกรรมชิ้นนี้ก็จะช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เศรษฐกิจชุมชนและประเทศ และช่วยขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น รวมทั้งผ้าอุตสาหกรรมของไทยสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น ถือเป็นการยกระดับผ้าไหมไทยไปสู่ตลาดที่กว้างขว้างต่อไปได้ในอนาคต

นวัตกรรมผ้าไหมไทยย้อมกราฟีน

ส่วนนวัตกรรมชิ้นที่ 3 คือ เม็ดพลาสติกกราฟีน ที่ทางทีมวิจัยได้คิดค้นที่จะนำพอลิเมอร์ที่คัดสรรมาผ่านกระบวนการผสมวัสดุกราฟีน เพื่อเพิ่มความเหนียวและความคงทนแข็งแรง แต่ยังให้น้ำหนักที่เบา โดยจะสามารถนำมาดึงเป็นเส้นฟีลาเมนต์ สำหรับการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printer) ได้ และจะมีประโยชน์ต่อการใช้ในการผลิตอุปกรณ์โดรนการเกษตร รวมถึงอุปกรณ์ด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เช่น โดรนการทหาร แผ่นเกราะกันกระสุน หมวกกันกระสุน

ผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรมเม็ดพลาสติกกราฟีน

นวัตกรรมอีกชิ้นที่น่าสนใจ คาดว่าจะมีบทบาทสูงในการดำเนินชีวิตของผู้คนด้วย นั่นคือ ระบบตรวจจับ Plasma Bubble ในชั้นบรรยากาศ เป็นผลงานทีมวิจัยนำโดย ศ.ดร.พรชัย ทรัพย์นิธิ หัวหน้าทีมวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. นวัตกรรมชิ้นนี้เป็นนวัตกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อคาดการณ์ภัยพิบัติ นำร่องอากาศยาน และการใช้ GPS ได้แม่นยำปลอดภัยขึ้น เป็นการร่วมมือกันกับ สถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ หรือ NICT ประเทศญี่ปุ่น เจ้าตัวพลาสมาบับเบิ้ล (Plasma Bubble) ที่ว่านี้ เป็นความผิดปกติที่เกิดในชั้นบรรยากาศซึ่งจะรบกวนสัญญาณดาวเทียม และนำไปสู่อุบัติเหตุและความเสียหายต่อชีวิตได้ สจล. ได้สร้าง “สถานีเรดาห์ตรวจสภาพอวกาศ” ที่ สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเรดาร์ VHF ร่วมกับเซนเซอร์ในการตรวจพลาสมาบับเบิ้ล และด้วยประสิทธิภาพในการมอนิเตอร์ จะสามารถแจ้งความผิดปกติได้ทันที โดยจะแจ้งเตือนไปยังสถานีต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงเครื่องรับสัญญาณ GNSS ที่ใช้งานในขณะนั้นได้ทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมการรับมือ และกำลังพัฒนาระบบนำร่องในการลงจอดอัตโนมัติ (Auto Landing) ซึ่งจะพัฒนาอุตสาหกรรมการบินให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยขึ้น

ทีมวิจัยนวัตกรรมระบบตรวจจับ Plasma Bubble

นวัตกรรมทั้ง 4 ชิ้นนี้เป็นเพียงแค่เสี้ยวเล็ก ๆ ภายในงานเท่านั้น เพราะเขาบอกว่าในงาน KMITL Innovation Expo 2023 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 27 – 29 เมษายนนี้ สจล. เตรียมขนทัพนวัตกรรมและไอเดียกว่า 1,111 ชิ้นมาแสดง ซึ่งนวัตกรรมทุกชิ้นที่นำมาจัดแสดงนั้นเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากฝีมือของทีมวิจัย และน้อง ๆ นักศึกษาจากทั้ง 11 คณะ 5 วิทยาลัย และอีก 1 วิทยาเขตของ สจล. ที่ทุกคนทุกฝ่ายมุ่งมั่นตั้งใจศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์ต่อผู้ใช้งานในโลกยุคดิจิทัลนี้ได้ต่อไป สามารถติดตามอัปเดตกิจกรรมและลงทะเบียนเข้างานได้ที่ expo.kmitl.ac.th งานนี้เข้าชมฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายด้วย ใครพลาดไปเสียดายแย่เลย

expo.kmitl.ac.th

และนอกจากงาน KMITL Innovation Expo 2023 แล้ว ในวันเดียวกันนั้นทาง สจล. เขาก็มีกิจกรรมเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนของทุกคณะทุกวิยาลัย ให้ตัวน้อง ๆ ม.ปลายเองหรือจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองเองก็เข้ามาดูที่เรียนให้ลูก ๆ ได้ เหมือนเป็นงานเปิดบ้าน สจล. เลย พร้อมทั้งยังมีกิจกรรม workshop ให้ทำ เช่น สาธิตการทำเบอร์เกอร์ การทำเค้กจากข้าวแป้ง การประยุกต์การใช้โฟมในไส้กรอกอีสาน ถือเป็นโอกาสที่ดีมาก ๆ มางานเดียวได้ครบทุกอย่างกลับบ้านไปเลย ถ้ารู้แบบนี้แล้ว 27 – 29 เมษายนนี้ ล็อกคิวไว้ให้พร้อม มีลูกบอกลูก มีหลานบอกหลาน แล้วมาเจอกันที่งานนะ

Image

Share this page