ทำไมต้องเรียน วศ.บ. วิศวกรรมระบบอุตสาหกรรมการเกษตร (ต่อเนื่อง) ?
นโยบายประเทศไทย 4.0 ได้อธิบายภาพการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย ตั้งแต่ในอดีตโดยเริ่มต้นจากการที่ประชาชนคนไทยมีอาชีพการทำเกษตรเป็นหลัก ส่วนใหญ่จะทำเพื่อการยังชีพเหลือจึงขาย ต่อมาในยุคที่ 2 ที่สังคมได้เข้าสู่อุตสาหกรรมเบา เน้นการใช้แรงงานราคาถูก ผลิตสินค้าด้วยเทคโนโลยีระดับต่ำ-กลาง เพื่อทดแทนการนำเข้าและส่งออกบางส่วน ในยุคที่ 3 จึงได้เปลี่ยนนโยบายมาเป็นการผลิตในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น การผลิตรถยนต์ อะไหล่อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง ราคาแพงจากต่างประเทศ โดยเน้นการส่งออก ทำให้เศรษฐกิจเติบโต ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ก็ไม่สามารถเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไปได้ เพราะไม่มีองค์ความรู้และเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นของตัวเอง ประชากรติดกับอยู่ในหมู่ประเทศที่มีรายได้ปานกลางมากว่า 20 ปี นโยบายประเทศไทย 4.0 จึงได้แนวคิดในการขับเคลื่อนประเทศ มาเป็นขับเคลื่อนด้วยการใช้นวัตกรรมการบริหารจัดการ การใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ผลิตขึ้นในประเทศ เพื่อการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศในยุคที่ 4 โดยกำหนดยุทธศาสตร์โดยใช้สิ่งที่ประเทศไทยมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเป็นสิ่งที่ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบ ได้แก่ การพัฒนาโดยใช้ยุทธศาสตร์ด้านเกษตรและอาหาร ยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ ยุทธศาสตร์ด้านสื่อสารและสารสนเทศ ยุทธศาสตร์ด้านหุ่นยนต์อัจฉริยะ และยุทธศาสตร์ด้านการใช้นวัตกรรมเพื่อการบริการที่มีมูลค่าสูง นโยบายเกษตร 4.0 จึงได้มุ่งเน้นให้การทำเกษตรกรรมในประเทศให้หันมาใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ โดยใช้การสื่อสารแบบไร้สาย รวมทั้งการใช้เครื่องจักรและเครื่องมือ เพื่อนำมาใช้ในการผลิตไม่ว่าจะเป็นการผลิตแบบ Smart Farming หรือเกษตรแปลงใหญ่ ใช้การบริหารจัดการตลาดโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ลดแรงงานโดยใช้ระบบอัจฉริยะในมิติต่างๆ เช่น การสั่งการใช้ระบบ IoT การใช้เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำ เพื่อลดแรงงาน ลดต้นทุน และสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพสูง รวมทั้งสามารถแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ ผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งก็คือการทำน้อยได้มากนั่นเอง วิศวกรรมเกษตร เป็นหนึ่งใน 19 สาขาวิชาชีพที่ได้รับการรับรองในประกาศตามราชกิจจานุเบกษานี้ด้วย งานในขอบข่ายที่วิศวกรรมเกษตรสามารถกระทำได้มี 6 งาน ได้แก่ 1) งานด้านดินและน้ำ 2) งานด้านการผลิตสัตว์ปศุสัตว์ สัตว์น้ำ และการประมง 3) งานด้านการผลิตพืชทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นพืชอาหาร ธัญพืช ผักและผลไม้ พืชเส้นใย และพืชพลังงาน 4) งานด้านการแปรสภาพ แปรรูป อบแห้ง ผลผลิตทางการเกษตรทุกชนิด 5) งานด้านการผลิตเชื้อเพลิง และพลังงานจากผลผลิตทางการเกษตร และ 6) การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเกษตร ดังนั้นจะเห็นได้ว่า งานวิศวกรรมเกษตรเป็นศาสตร์ที่ประยุกต์และบูรณาการองค์ความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ มาใช้ในการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่มาจากการเกษตรกรรม โดยเป็นการรวมความรู้ทางด้านวิศวกรรมมาผสมผสานกับองค์ความรู้ทั้งการเกษตรและเทคโนโลยีอื่นๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้ผลผลิตจากการเกษตร เพื่อการอุปโภคและการบริโภคอย่างมีคุณภาพและปลอดภัย หลักสูตรวิศวกรรมระบบอุตสาหกรรมการเกษตรมุ่งเน้นการบูรณาการองค์ความรู้ต่างๆ เข้ามาไว้ด้วยกัน และเปิดให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจากสายอาชีพในระดับวิชาชีพชั้นสูง หรือ ปวส. ในหลายสาขาวิชาชีพ โดยเชื่อว่านักศึกษาเหล่านี้จะนำเอาความรู้และทักษะที่ฝึกหัดมาบูรณาการพร้อมกับองค์ความรู้ใหม่จากภาควิชาวิศวกรรมเกษตร เพื่อให้ได้วิศวกรแบบใหม่ที่สามารถนำเอาเทคโนโลยีในหลากหลายมิติมาหลอมรวมเป็นนวัตกรรมที่ถูกนำมาประยุกต์ในการแก้ปัญหาการเกษตรของประเทศไทยที่ผลผลิตการเกษตรของไทยที่มีมูลค่าต่ำ ทำให้มีมูลค่าสูงและมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
ทำไมต้องเรียน วศ.บ. วิศวกรรมระบบอุตสาหกรรมการเกษตร (ต่อเนื่อง) ที่ สจล. ?
ด้วยความแข็งแกร่งของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ที่มีความเชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ภาควิชาวิศวกรรมเกษตรได้บูรณาการจุดเด่นนี้กับองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมเกษตร และออกแบบให้หลักสูตรวิศวกรรมระบบอุตสาหกรรมการเกษตร มีเนื้อหาและมีความเชี่ยวชาญในเรื่อง IOT, Plant Factory, ระบบฟาร์มอัจฉริยะ, ระบบเกษตรแม่นยำ โดยใช้เทคโนโลยี GPS, GIS ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ และระบบหุ่นยนต์ เพื่อให้การทำการเกษตรเป็นไปด้วยความแม่นยำ สะดวก ประหยัด และใช้แรงงานน้อยเท่าที่จำเป็น หลักสูตรนี้จึงเป็นหลักสูตรที่มีการเรียนการสอนทั้งทางด้าน Hardware และ software นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจึงมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยี ใช้นวัตกรรม เพื่อการเกษตรในยุคประเทศไทย 4.0 ได้ตามนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลอย่างแท้จริง
โอกาสในการหางาน
“อาชีพ
ตามนโยบายการพัฒนาประเทศ ปฏิรูปงานภาคเกษตรให้เป็นเกษตร 4.0 นั้นทำให้โอกาสในการทำงานของบัณฑิตอยู่ในระดับที่ดีอยู่แล้วนั้นสูงขึ้น โดยอาชีพที่สามารถประกอบได้หลังจบการศึกษา มีดังนี้
วิศวกรที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในด้านการเกษตรและระบบอุตสาหกรรมเกษตร รวมถึงอาชีพที่ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมเกษตร และ/หรือ วิศวกรรมเครื่องกล ในทุกองค์กร
วิศวกรควบคุมการผลิต วิศวกรซ่อมบำรุง ในโรงงานอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร และโรงงานประเภทอื่นๆ
วิศวกรที่ปรึกษาออกแบบระบบจัดการด้านการเกษตร
วิศวกรฝ่ายขาย เครื่องมือ เครื่องจักรด้านการเกษตร และเครื่องมือกลอื่นๆ
อาจารย์ นักวิจัย นักวิชาการ ในสถาบันการศึกษา รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และหน่วยงานอิสระ
นักการขาย เจ้าของธุรกิจ และอาชีพอิสระอื่นๆ
โดยมีอัตราค่าตอบแทนเฉลี่ยประมาณเดือนละ 22,000 บาท”
ค่าธรรมเนียมการศึกษา
การติดต่อ
คณะวิศวกรรมศาสตร์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- 02-329-8321
- telecom@kmitl.ac.th
- elec.kmitl.info@gmail.com
- maneerut.su@kmitl.ac.th
- siie@kmitl.ac.th
- sompob.po@kmitl.ac.th
- taweepol.su@kmitl.ac.th
- pholchai.ch@kmitl.ac.th
- ravipat.la@kmitl.ac.th
- wiboon.pr@kmitl.ac.th
- https://engineer.kmitl.ac.th/