สจล. ชูธงทิศทางนโยบาย ก้าวสู่ปีที่ 64 พลังสร้างสรรค์อนาคตไทยและโลกที่ยั่งยืน…มุ่งเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล – อัจฉริยะ – ยั่งยืน และการเรียนรู้ตลอดชีวิต
สจล. ชูธงทิศทางนโยบาย ก้าวใหม่สู่ปีที่ 64 พลังสร้างสรรค์อนาคตไทยและโลกที่ยั่งยืน…มุ่งเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล – อัจฉริยะ – ยั่งยืน และการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันสถาปนาครบ 63 ปี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) 24 สิงหาคม 2566 สจล.จัดงานแถลงทิศทางนโยบายการดำเนินงานก้าวสู่ปีที่ 64 มุ่ง ‘เปลี่ยนผ่าน’ 3 ด้าน 1. KLLC & Global Innovation ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและสร้างนวัตกรรมระดับโลก 2.ก้าวเป็น Digital and Smart University และ3.มุ่งเป็น Sustainable Universityมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สร้างพื้นที่สีเขียว ตอกย้ำศักยภาพในเวทีระดับโลกด้วยเทคโนโลยีและดิจิทัล และการมุ่งสู่การเป็น ‘ผู้นำด้านนวัตกรรมระดับโลก’ พร้อมตั้งเป้าหมายในปี 2028 สจล. จะ ‘ลดปริมาณคาร์บอน’ ลงร้อยละ 50และจะมุ่งสู่เป้า ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ สำหรับประเทศไทย (Carbon Neutrality)ในปี 2050
รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ในโอกาสที่ สจล. ครบรอบวันคล้ายวันสถาปนาครบ 63 ปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่า สจล. เป็นสถาบันการศึกษาที่เข้มแข็ง มุ่งเน้นการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคการศึกษา การคมนาคม ขนส่ง เทคโนโลยี วิจัย ฯลฯ ปัจจุบัน สจล. มี 2 แคมปัส ได้แก่ สจล.ลาดกระบัง และวิทยาเขตชุมพร ประกอบด้วย 11 คณะ 5 วิทยาลัย มีนักศึกษารวมกว่า 25,000 คน พร้อมด้วยห้องปฏิบัติการ-ศูนย์วิจัยกว่า 50 แห่ง ในก้าวสู่ปีที่ 64 สจล.วางแนวนโยบายในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายด้วยการทำให้สถาบันของเรามีคุณภาพทั้งในด้านคุณภาพการศึกษา คุณภาพชีวิต และความยั่งยืน โดยกำหนดเป็นนโยบายการบริหารงานและพัฒนาสถาบันใน 3 ด้าน ได้แก่
1.ด้านส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต KLLC & Global Innovation การเรียนรู้ตลอดชีวิตและสร้างนวัตกรรมระดับโลก ทั้งด้านระบบการทำงาน คุณภาพชีวิต ต่อยอดเครือข่าย ส่งเสริมนวัตกรรม โดย สำนักการเรียนรู้ตลอดชีวิตพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ KLLC สร้างสรรค์พัฒนาทั้งระบบการทำงาน คุณภาพชีวิต ต่อยอดเครือข่าย ส่งเสริมนวัตกรรม และผลักดันด้าน ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning)’ ด้วยหลักสูตรปกติ รวมทั้งกิจกรรมและหลักสูตร KLLC อีกกว่า 100 วิชา เพื่อเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ทั้งออนไลน์และออนไซต์ของคนไทยทุกช่วงวัย ได้แก่ วัยเด็กผ่าน Kids University โครงการมหาวิทยาลัยเด็กเล็ก, วัยเรียน วัยทำงาน ผ่านโครงการเรียนล่วงหน้าเก็บเครดิตและหลักสูตรพัฒนาทักษะ Re-skills Up-Skills และ New- Skills และโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่, วัยสูงอายุ ผ่านชมรมสายใย สจล. และ KMITL Elderly School ทั้งนี้การส่งเสริมทักษะสำคัญมุ่งเน้นการคิดสร้างสรรค์ คิดแบบนวัตกรรม และจัดกิจกรรมส่งเสริม
ในโอกาสฉลองครบรอบ 63 ปี สจล. KLLC ยังได้จัดงานประกวด ‘KMITL Future Innovator 2023’ เป็นเวทีสำหรับนวัตกรและคนรุ่นใหม่เพื่อเสริมสร้างทัพนวัตกรของไทยให้เข้มแข็ง ซึ่งมี 2 เวที คือ การประกวดนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีระดับประเทศ ครั้งที่ 11 ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และการประกวดแนวคิดนวัตกรรม (Pitching) สานพลังสร้างแรงบันดาลใจเยาวชนและคนรุ่นใหม่ โดยมีทีมจากทั่วประเทศเข้าแข่งขันคับคั่งทั้งระดับนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป นอกจากนี้ในด้านนวัตกรรมและสตาร์ทอัพ สจล. ไม่เพียงวิจัยพัฒนาและบ่มเพาะสตาร์ทอัพเท่านั้น แต่ยังผนึกความร่วมมือระดับนานาประเทศและนำพาสตาร์ทอัพไทยไปเวทีโลก เพื่อเชื่อมต่อเครือข่ายและโอกาสในตลาดทั่วโลก อาทิ งาน Asia Berlin Summit ที่นครเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี, งาน Falling Walls Labs Thailand ที่เปิดรับนักศึกษา นักวิจัย คนทำงานรุ่นใหม่ เข้าร่วมประกวดไอเดีย เพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันที่ประเทศเยอรมัน ส่วนในต้นปี 2567 สจล.เตรียมนำสตาร์ทอัพไทยไปสหรัฐอเมริกาเพื่อขยายความสัมพันธ์ทางนวัตกรรมและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ
2.ด้านการเป็น Digital and Smart University สจล.ได้เตรียมแผนยกระดับการบริหารจัดการและส่งเสริมการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลผ่านสำนักบริหารข้อมูลดิจิทัล KDMC: KMITL Data Management Center สจล. เข้าสู่การเป็น Digital University เป็นมหาวิทยาลัยที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนสำคัญในการเรียนการสอน และบริหารงานด้วยชุดข้อมูลพร้อมวิเคราะห์แนวโน้มความต้องการพัฒนาทักษะความรู้ เพื่อออกแบบหลักสูตรที่เหมาะกับประชากรคนรุ่นใหม่ของไทย ทั้งการคาดประมาณแนวโน้มคุณภาพประชากร การพัฒนาด้านการเรียนการสอน โดยสำนักบริหารข้อมูลดิจิทัล และสำนักทะเบียนและประมวลผล ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลกลาง สจล. ทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปวิเคราะห์และสร้างโมเดล AI เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ อาทิ แอปพลิเคชัน KMITL UAPP สามารถลงทะเบียน เช็คตารางเรียน พัฒนาการเรียนออนไลน์ การวิเคราะห์ทักษะให้กับนักศึกษา Skills Mapping, Transcript รวมทั้งผลักดันหลักสูตรใหม่ๆ และปรับปรุงหลักสูตรให้รองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก เพื่อผลิตบัณฑิตที่พร้อมทำงานได้จริง และตรงกับความต้องการเฉพาะในการพัฒนาทักษะความรู้ของผู้เรียนแต่ละคน (Personalized Curriculum) ซึ่งทาง สจล. ได้คำนึงถึงคุณภาพการศึกษาที่ต้องมีความสอดคล้องกับบริบทและความต้องการด้านบุคลากรของสังคมเป็นสำคัญ รองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
พร้อมทั้งดำเนินการขับเคลื่อนสู่การเป็น Smart University หรือ ‘มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ’ รองรับอนาคต Digital Lifestyle ได้แก่ การพัฒนาระบบ E-Wallet x KMITL UApp เชื่อมโยงระบบการทำธุรกรรมดิจิทัลของธนาคารกับทุกกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยไว้ในที่เดียว, บริการระบบจองที่จอดรถอัจฉริยะ ตรวจหาที่จอดรถว่างผ่าน AI CCTV พร้อมจองที่จอดรถล่วงหน้า และชำระค่าจอดรถผ่านระบบ E-Wallet รวมถึงสามารถดูรถที่จอดทิ้งไว้ได้ตลอดเวลาผ่านระบบ AI CCTV ในมหาวิทยาลัยได้, บริการ Taxi Win เรียกรถแท็กซี่และวินมอเตอร์ไซค์ ผู้ใช้งานสามารถสื่อสารผ่านคนขับด้วยการพิมพ์ หรือโทรผ่านระบบ Voice Over IP (VOIP) มีระบบ Track พิกัดของผู้โดยสารและ รายงานประวัติการเรียกใช้บริการ พัฒนาระบบ AI CCTV เชื่อมโยงกล้องวงจรปิดอัจฉริยะ โดยสามารถดูภาพภายในและรอบๆ มหาวิทยาลัยผ่านกล้องวงจรปิด AI CCTV ได้ตลอด 24 ชั่วโมง สามารถตรวจจับใบหน้าเพื่อระบุคนแปลกหน้าและตัวตนคนที่เข้ามาภายในบริเวณมหาวิทยาลัย ตรวจจับความหนาแน่นในบริเวณพื้นที่ที่ AI CCTV เข้าถึง แจ้งเตือนคนหกล้ม และแจ้งเตือนเหตุการณ์ทะเลาะวิวาท, สร้าง KMCH Telemedicine เชื่อมโยง รพ.เจ้าคุณทหารลาดกระบัง บริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ผ่านการ แชท โทร หรือ วีดิโอคอล รองรับการเบิกจ่ายในกรณีที่ สปสช. กำหนด สามารถรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน หรือเลือกรับยาที่บ้านได้ด้วยการใช้บริการนำส่งยาผ่าน Taxi Win
3.ด้านความยั่งยืน Sustainable University มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สร้างพื้นที่สีเขียวและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้น สจล.ได้ติดตั้งระบบ Solar Roof ขนาด 2 เมกะวัตต์ ที่ KLLC และหอประชุมเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ทำให้สามารถประหยัดพลังงาน และลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ ทั้งนี้สจล. มุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาโลกร้อนพร้อมไปกับพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน (Sustainable University) และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีแก่บุคลากร นักศึกษา และสังคม โดยตั้งเป้าหมายในปี 2028 สจล. จะ ‘ลดปริมาณคาร์บอน’ ลงร้อยละ 50 และจะมุ่งสู่เป้า ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ สำหรับประเทศไทย (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 ภายใต้บริบทของสจล.ในการเป็น ‘ต้นแบบด้านวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อก้าวสู่โลกอนาคต บนคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ และเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย สจล.จึงได้ประกาศ ‘นโยบายการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม พลังงานและทรัพยากร เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน 9 ข้อ’ ของสถาบันแก่นักศึกษา บุคลากร นักวิจัย ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมลงมือการดำเนินการจัดการ คุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานและทรัพยากรของสถาบัน
ทั้งนี้ ทุกกิจกรรม ทุกโครงการเป็นนโยบายที่กำหนดตัวชี้วัดไว้ 9 ระดับ เรียกว่า KMITL Readiness Level กำหนดแนวทางขับเคลื่อนที่ชัดเจนในแต่ละช่วงเวลา เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายการเป็น ‘ผู้นำนวัตกรรมระดับโลกภายในปี 2033’ เริ่มจากระดับบุคลากร หน่วยงานภายใน ให้ได้ตะหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรม และเห็นภาพในอนาคต สนับสนุนให้นำองค์ความรู้มาสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และนำนวัตกรรมต่างๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับองค์กร รวมทั้งผลักดันนวัตกรรมต่างๆ ไปใช้ในวงกว้าง ควบคู่ไปกับคุณภาพของผลการดำเนินการ ทั้งบัณฑิตที่มีคุณภาพทำงานได้จริง งานวิจัยที่มีคุณภาพขับเคลื่อนและสร้างสรรค์ประโยชน์กับประเทศและสังคมโลก รวมไปถึงคุณภาพของชีวิตของบุคลากร นักศึกษา และสังคมที่ดีขึ้น มุ่งหวังสู่การเป็น The World Master of Innovation เพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับโลก ดังนี้
1.การดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทางด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อกำหนด และระเบียบปฏิบัติอื่นๆ ตามมาตรฐานสากล
2.พัฒนาสถาบันให้สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน(SDG) ทั้ง 17 เป้าหมาย ขององค์การสหประชาชาติ
3.บริหารการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากกิจกรรมในสถาบัน
4.พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงด้านภูมิทัศน์ตามหลักการจัดสวนเชิงนิเวศและพื้นที่สีเขียว
5.ส่งเสริมระบบบริหารการจัดการ ปรังปรุง ป้องกัน และควบคุมมลพิษ ขยะ น้ำเสีย อากาศ สารเคมี และมลพิษอื่นๆ ภายใต้มาตรฐานที่กำหนด
6.สร้างจิตสำนึก ให้ความรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของนักศึกษาและบุคลากรตามหลักการ 3R คือ Reduce (ลดใช้หรือใช้น้อยเท่าที่จำเป็น) Reuse (การใช้ซ้ำ) และ Recycle (แปรรูปมาใช้ใหม่) เพื่อลดปริมาณขยะและของเสียที่เกิดขึ้น
7.ส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการคมนาคมขนส่งแบบใช้พลังงานทางเลือก เพื่อการบริการบุคลากรและนักศึกษา
8.สนับสนุนงานวิชาการ งานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างระบบการจัดการการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม พลังงานและทรัพยากรอย่างยั่งยืน
9.ส่งเสริมให้การจัดซื้อจัดจ้าง ต้องใช้หรือคำนึงถึงผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ
ในโอกาสนี้ สจล. ขอรณรงค์การนำขยะพลาสติกสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยเปิดตัว น้อง “เซอร์ครอค” (Cir Croc) ประติมากรรมในรูปลักษณ์จระเข้ 3R ให้เยาวชนและคนไทยร่วมใจกันลดใช้พลาสติก สนับสนุนการใช้วัสดุรีไซเคิล และช่วยกันรวบรวมขยะพลาสติกเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
แหล่งที่มา https://bangkok-today.com/สจล-ชูธงทิศทางนโยบาย-ก้/