“แบตเตอรี่กราฟีน”
ขับเคลื่อนรถ EV ไทยอย่างยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“แบตเตอรี่กราฟีน” จากงานวิจัย สู่นวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม BCG
ในยุคนี้คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถ EV มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะรถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้านั้นจะสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากนี้ยังช่วยลดมลภาวะทางอากาศ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษอย่างฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เนื่องจากไม่มีการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ที่ก่อให้เกิดไอเสีย ยานยนต์ไฟฟ้าจึงมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนรถ EV นั่นก็คือแบตเตอรี่ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้นักวิจัย สจล. ศึกษาค้นคว้าการผลิตแบตเตอรี่กราฟีนที่มีความเหมาะสมกับการใช้ในรถ EV เพื่อเป็นต้นแบบในการนำไปสู่การผลิตระดับอุตสหกรรมในอนาคต และเป็นแนวทางการสร้างสิ่งแวดล้อมที่สะอาดปลอดภัยให้กับโลก
การใช้พลังงานแบบใหม่ เพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
“แบตเตอรี่ กราฟีน” ผลงานการวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.เชรษฐา รัตนพันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชวาลย์ ศรีวงษ์ และทีมนักวิจัย สจล. ซึ่งได้ค้นพบว่า กราฟีน เป็นวัสดุนาโน มีพื้นผิวจำเพาะสูง สามารถนำไฟฟ้าและระบายความร้อนได้ดีมาก จึงเหมาะแก่การนำมาพัฒนาเป็นแบตเตอรี่ ที่สามารถกักเก็บประจุไฟฟ้าได้สูงและชาร์จได้รวดเร็ว ที่สำคัญยังมีความปลอดภัยสูง ไม่เกิดการระเบิดและไม่ติดไฟในขณะใช้งาน สามารถใช้กับระบบ BESS (Battery Energy Storage System) และใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าได้ ทีมวิจัยได้พัฒนาแบตเตอรี่กราฟีนมาอย่างต่อเนื่องจนล่าสุดได้ขยายผลผลิตผลักดันให้มีการสนับสนุนถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) ไปสู่ในระดับโรงงานอุตสาหกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และบริษัท ซัน วิชั่น เทคโนโลยี จำกัด ได้ลงนามความร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยี (Memorandum of Agreement : MoA) ณ คณะวิทยาศาสตร์ สจล. โดยมีคุณดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพีธี MoA ครั้งนี้ การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นข่าวดีอย่างยิ่งของประเทศไทย ที่จะมีเทคโนโลยีแบตเตอรี่กราฟีนเข้าสู่การผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ด้วยคุณสมบัติของแบตเตอรี่กราฟีนที่สามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ได้ นอกจากนี้การพัฒนาของแบตเตอรี่กราฟีนยังรองรับแนวคิด BCG (Bio-Circular-Green Economy) ต่อยอดการพัฒนาประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของคนไทย และคนทั้งโลก
โดยความร่วมมือที่ได้กล่าวถึงในข้างต้นจะเป็นการขอใช้สิทธิ “เทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่กราฟีนและตัวเก็บประจุยิ่งยวดกราฟีน” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญาของสถาบัน เป็นการพัฒนาเป็นแบตเตอรี่สำหรับเก็บพลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ การติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม รวมถึงขยายผลเป็นแบตเตอรี่ในด้านอื่น ๆ โดยเส้นทางของแผนพัฒนาแบตเตอรี่กราฟีนนี้มีระยะเวลาการอนุญาตร่วม 5 ปี ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 เฟสด้วยกัน เริ่มจากเฟสที่ 1 ทีมนักวิจัย สจล. มีความคิดที่จะจัดสร้างโรงงานต้นแบบผลิตกราฟีน โดยใช้พื้นที่ภายในคณะวิทยาศาสตร์ สจล. เป็นฐานปฏิบัติการ เฟสที่ 2 หลังจากจัดตั้งโรงงานก็ได้เริ่มพัฒนาต้นแบบแบตเตอรี่กราฟีน สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และรถไฟในอนาคต โดยได้พัฒนาสำเร็จตามเป้าหมายสำเร็จตามเป้าหมาย และในเฟสที่ 3 นี้ได้ทำการลงนามความร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีกับบริษัท ซัน วิชั่น เทคโนโลยี จำกัด เพื่อเป็นการนำผลงานนวัตกรรมแบตเตอรี่กราฟีนขยายผลสู่การผลิต โดยมีความตั้งใจที่จะสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่กราฟีน เชิงพาณิชย์ระดับอุตสาหกรรม เพี่อเป็นฐานการผลิตแรกของไทย
แบตเตอรี่กราฟีนจะเข้ามาเปลี่ยนโลกธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าของไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น สนับสนุนผลผลิตของเกษตรกรไทยด้วยการรับซื้อวัสดุเหลือทิ้งจากพืชผลเกษตร เช่น เปลือกทุเรียน เปลือกมังคุด ซังข้าวโพด ไม้ไผ่ ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักในขบวนการการผลิตแบตเตอรี่
กราฟีน เพื่อคนยุคใหม่ที่กำลังก้าวสู่ยุคแห่งพลังงานทดแทนไปด้วยกัน (Green Energy and Green Community)
โดยท่านใดที่สนใจแบตเตอรี่กราฟีนสามารถเข้ามาชมผลงานได้ในงาน KMITL Innovation Expo 2024 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 1 – 3 มีนาคม 2567 ณ หอประชุมเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://www.kmitl.ac.th/ หรือโทร. 02-329-8000, 02-329-8099